TKP HEADLINE

พระพุทธสิกขีปฏิมา (พระประจำเวียงอาลัมพางค์นคร พ.ศ ๑๒๕๑-๒๐๕๗)

 


พระพุทธสิกขีปฏิมา (พระประจำเวียงอาลัมพางค์นคร พ.ศ ๑๒๕๑-๒๐๕๗) ข้อมูลนิทรรศการ งานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่ 2 ปี 2565  ไฟล์เพื่อการดาวน์โหลด ด้านบน รวม 2 ไฟล์ภาพ 

เนื้อหาต้นฉบับ

พระสิกขีปฏิมาประดิษฐานที่เวียงอาลัมพางค์นครได้อย่างไร ?

พระเจ้าอินทรรเกิงกรเมื่อทรงครองเมืองเขลางค์นครแล้วได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ชาวเขลางค์นครและทรงสร้างวัดวาอารามเป็นอันมาก ภายหลังได้ทูลเชิญพระนางจากเทวีพระมารดาเสด็จจากนครหริภุญไชยมายังเมืองเขลางค์นครเพื่อดูแลปรนณิบัติและประทับเพื่อปฏิบัติธรรมในศรัทธาของพระองค์ เมื่อพระนางจามเทวีได้เสด็จมายังเมืองเขลางค์นครในปี พ.ศ. ๑๒๕๑ นั้น พระนางได้รับพระราชทานพระพุทธสิกขีปฏิมาจากเจ้าเมืองพุกามแห่งพม่าเพื่อทรงแสดงไมตรีที่พระนางทรงเลื่อมใส ส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยดีเสมอมา  พระนางได้ถวายพระพุทธสิกขีปฏิมานั้นให้แก่พระเจ้าอินทรเกิงกรเพื่อให้เป็นพระประจำเมืองโดยนำไปประดิษฐานไว้ที่เสตกูฎาราม(วัดกู่ขาว)ในบริเวณเวียงอาลัมพางค์ พระพุทธสิกขีปฏิมาองค์นี้จึ่งมีความสำคัญต่อเมืองเขลางค์อาลัมพางค์นครเป็นอันมาก  แม้ปัจจุบันยังไม่พบเจอเลยก็ตาม ผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองลำปางและชาวนครลำปางเองควรได้ทราบถึงความเป็นมา ความสำคัญและพุทธลักษณะของพระพุทธสิกขีปฏิมานี้ อันเคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ปรากฏหลักฐานว่ามีอยู่จริง

 ความเป็นมาของพระสิกขีปฏิมา

ตามตำนานที่จารึกพระพุทธสิกขีปฏิมาเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากศิลาดำ ซึ่งในตำนานที่เล่าขานกันว่าพระพุทธสิกขีปฏิมาทำจากศิลาดำที่เคยเป็นแท่นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อคราวเสด็จมาเทศนาธรรมแก่ชาวประชาในเมืองแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นกลายเป็นแท่นศิลาที่ประชาชนกราบไหว้บูชาเพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเคยเป็นศิลาที่ประทับของพระพุทธองค์  ต่อมาพระเจ้าราชาธิราชองค์หนึ่งในรัมมนะประเทศ ( คือรามัญเทสะ ประเทศของชาวมอญ ) ซึ่งเป็นพระบิดาพระเจ้ามนูหะเม็งได้นำแท่นศิลาดำก้อนดังกล่าวมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปออกมา ๕ องค์  พระพุทธสิกขีปฏิมาทั้ง ๕ องค์นี้ภายหลังกระจายไปอยู่ในนครต่างๆได้แก่ ที่เมืองมหานคร (นครปฐม) ๑ องค์ ๑  เมืองละโว้ (ลพบุรี) องค์ ๑ เมืองสุธรรมวดี(เมืองสะเทิม) องค์ ๑ และอีก ๒ องค์อยู่ที่เมืองรัมมนะประเทศ ( ซึ่งดร.อัครินทร์ พงษ์พันธุเดชา ผู้เชี่ยวชาญด้านรามัญศึกษาให้ความเห็นว่าคือ เมืองกลิงครัฐ และเมืองจิตตะกอง ) ต่อมาพระเจ้าอนุรุทธแห่งกรุงพุกามยกทัพไปตีเมืองสุธรรมวดีได้พระพุทธสิกขีปฏิมากลับไปยังกรุงพุกาม จากนั้นกษัตริย์ผู้ครองเมืองมหานคร(นครปฐม) ได้ถวายพระพุทธสิกขีปฏิมาแก่เจ้าอนุรุทธอีกองค์หนึ่ง  พระองค์จึงได้ถวายให้แก่พระนางจามเทวีและพระนางถวายให้แก่พระเจ้าอินทรเกิงกรดังที่กล่าวมาแต่ต้น ซึ่งก่อนหน้านี้พระนางจามเทวีได้นำพระพุทธสิกขีปฏิมาองค์ที่ประดิษฐาน ณ เมืองละโว้มาด้วยคราเสด็จมาครองเมืองหริภุญไชยและให้ประดิษฐานที่วัดลมักการาม(วัดกู่ละมัก)ในเมืองหริภุญไชย

 การสร้างและพุทธลักษณะของพระพุทธสิกขีปฏิมา

เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยการแกะสลักจากศิลาดำแบบนูนต่ำแต่มิได้เจาะจงชัดเจนว่าเป็นปางใด ขนาดองค์ไม่ใหญ่โตมากนักอาจจะขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วหรือระหว่าง ๔ - ๙ นิ้ว จึงสะดวกในการเคลื่อนย้าย(จากความเห็นของ ผศ. พงษ์เกษม สนธิไทย ) เป็นศิลปะปาละที่ได้รับอิทธิพลจากกษัตริย์ราชวงศ์ปาละประเทศอินเดียผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายวชิรยานที่แยกตัวมาจากนิกายมหายาน  

ลักษณะเด่นเฉพาะขององค์พระพุทธสิกขีปฏิมาคือ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง สวมมงกุฏกลีบรูปตาบสามเหลี่ยมเรียงกันบนกระบังหน้ากรอบพักตร์ที่ด้านข้างพระกรรณอาจมีทัดดอกไม้และผูกผ้ากรรเจียก โดยผ้านั้นมักห้อยตกลงมาปรกพระอังสาทำให้เปรียบเสมือนว่าเป็นหงอนนกยูง ซึ่งชาวอินเดียถือว่าเป็นนกชั้นสูงเป็นสัญญลักษณ์ของพระอาทิตย์   ชาวไทยนิยมเรียกว่า "เทริดขนนก"(เชิดขนนก) มงกุฏแบบนี้เป็นที่นิยมเลียนแบบใช้กับรูปสลักกษัตริย์ เทวดา และพระพุทธรูปทรงเครื่องในพุทธศิลป์ทวาราวดี เขมร ลพบุรี พุกาม จนเป็นเรื่องปกติ เมื่อพระนางจามเทวีนำพระพุทธรูปในลักษณะนี้มาประดิษฐานในเมืองหริภุณไชยและเขลางค์นคร ก็ได้รับการเคารพนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองและสืบทอดคตินี้มาถึงสมัยอาณาจักรล้านนา ปางของพระพุทธสิกขีที่พบจะแตกต่างกัน บางแห่งเป็นปางปฐมเทศนา ปางมารวิชัยซึ่งยังเป็นศิลาดำแกะสลักนูนต่ำสวมมงกุฏทรงเทริดขนนกยูง ภายหลัง มีการพัฒนาเป็นพระพุทธรูปองค์ลอยทรงเทริดขนนกยูงหล่อด้วยทองสำริดโดยช่างสกุลล้านนาเรียก "พระสิขีเจ้า"เป็นต้น

ชื่อเรียก"พระสิขี"หรือ"พระสิกขี"

 "พระสิขี" หมายถึงชื่อของอดีตพระพุทธเจ้าที่มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๘ พระองค์ในจำนวนดังกล่าวมีชื่อ "สิขี"ซ้ำกันถึง ๕ พระองค์ดังนั้นการสร้างพุทธสิขี ๕ พระองค์อาจมีนัยยะหมายถึงพระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่า "สิขี"ทั้ง ๕ พระองค์นี้ก็ได้

 ส่วน "พระสิกขี" นั้นแปลว่านกยูง ดร.พรศิลป์ รัตนชูเดช แห่งมจร สวนดอก เชียงใหม่ แสดงทัศนะว่า "น่าจะหมายถึงพระพุทธรูปทรงเทริด (มงกุฏยอดตัด) ประดับขนนกยูงที่มีตัวอย่างปรากฏเป็นปางต่างๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในประเทศอินเดีย เป็นต้น  ฉะนั้นหากกล่าวถึง"พระพุทธสิกขี" ยอมหมายถึง พระพุทธรูปที่เป็นศิลปะปาละ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔) อาจจะเป็นปางใดก็ตามที่สวมมงกุฏทรงเทริดขนยูง

บทสรุปที่ชวนคิด 

 ถึงแม้พระพุทธสิกขีปฏิมาพระประจำเมืองอาลัมพางค์ในอดีตนับจาก ปี พ.ศ. ๑๒๕๑ ที่อัญเชิญมาเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวเขลางค์อาลัมพางค์นคร จนถึงคราวต้องออกจากวัดกู่ขาว ( เสตกูฎาราม ) บริเวณพื้นที่ของเวียงอาลัมพางค์ไปในปี พ.ศ. ๒๐๕๗ โดยทัพอยุทธยาที่ยกมาตีเมืองละกอนยุคล้านนา ( เมื่อวันอังคารเดือนอ้ายขึ้น ๑๕ ค่ำปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๘๗๗ ) นานกว่า ๘๐๐  ปีจวบจนปัจจุบัน คงยังฝังอยู่ในความทรงจำของชาวลำปางที่บอกเล่าสืบทอดกันมาไม่จบสิ้นเป็นเหมือนพระพุทธรูปที่คาใจของศรัทธาสาธุชนและคนรักในประวัติศาตร์เมืองลำปาง ดุจดั่งหนามติดคาอยู่กลางใจ จนได้กล่าวได้ว่า พระพุทธสิกขีปฏิมา ณ วัดกู่ขาวแห่งอาลัมพางค์นครที่ประดิษฐานอยู่ในใจของชาวลำปางหรือได้ชื่อว่า  "พระพุทธสิกขีปฏิมาในความทรงจำ "   ใช่ไหมครับ 





พระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลลำปาง (บทสะท้อนความรุ่งเรือง ยุคทองแห่งอาณาจักรล้านนา)

 





พระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลลำปาง (บทสะท้อนความรุ่งเรือง ยุคทองแห่งอาณาจักรล้านนา)  ข้อมูลนิทรรศการ งานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่ 2 ปี 2565

        ○ เกริ่นนำ

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของงานพุทธศิลป์ประเภทงานพุทธปฏิมาในพื้นที่จังหวัดลำปางนั้น สามารถจัดจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหลักฐานพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่ กลุ่มพระพิมพ์ดินเผาศิลปะหริภุญชัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ที่ขุดค้นพบบริเวณแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี วัดร้างปันเจิง และวัดพระธาตุหมื่นครื้น นอกจากนี้ยังปรากฏพุทธรูปศิลปะแบบลพบุรีหรือศิลปะแบบละโว้ คือพระพุทธรูปปางนาคปรกแกะสลักจากหินทรายแดง ลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ที่วิหารพระเจ้าละโว้หรือวิหารพระเจ้าศิลา อันตั้งอยู่ทิศตะวันตก องค์พระธาตุลําปางหลวง พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่มีตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่า เป็นพระพุทธรูปที่พระบิดาของพระนางจามเทวีหรือพระเจ้ากรุงละโว้ ได้มอบให้กับพระราชนัดดา คือ เจ้าอนันตยศ เจ้าผู้ครองเมืองนครลำปางไว้มาสักการบูชา นอกจากหลักฐานที่กล่าวมาแล้วนั้น ในช่วงต้น   

สมัยล้านนาได้ปรากฏตำนานที่กล่าวถึงพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งที่เคยประดิษฐานอยู่ในเมืองนครลำปางคือ พระสิกขีปฏิมากร    กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินสีดำ ซึ่งอ้างมีที่มาเชื่อมโยงมาตั้งแต่ยุคสมัย  พระนางจามเทวี ซึ่งภายหลังจากเมืองนครลำปางพ่ายแพ้สงครามกับกองทัพของสมเด็จ    พระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา จึงได้มีการขนย้ายอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ออกจากเมืองนครลำปางในปี พ.ศ.2058 (สุรพล ดำริห์กุล, 2562: 25-26)

ในช่วงยุคทองของล้านนาได้มีการฟื้นฟูและอุปถัมภ์พุทธศาสนาในพื้นที่จังหวัดลำปาง ปรากฏเป็นหลักฐานการสร้างพระพุทธรูปขึ้นในเมืองนครลำปางเป็นจำนวนมาก รวมถึงการอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงรายมาประดิษฐานที่เมืองนครลำปาง เป็นเวลาถึง 32 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงยุคทองของเมืองนครลำปาง มีการสร้างวัดวาอารามขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกันหมื่นหาญแต่ท้อง บุตรชายหมื่นลกนครได้ขอพระเจ้าติโลกราชเข้ามาฟื้นฟูสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดพระธาตุเสด็จรวมถึงวัดอื่นๆ ภายในตัวเมืองนครลำปาง ซึ่งปัจจุบันยังคงปรากฏพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยยุคล้านนาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มพระพุทธรูปหล่อสำริด ซึ่งพบประดิษฐานอยู่ตามวัดสำคัญต่างๆ ทั่วเมืองลำปาง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อำเภอเกาะคา อำเภอเมือง อำเภอแม่ทะ และอำเภอห้างฉัตร โดยพระพุทธรูปสกุลช่างลำปางที่สร้างขึ้นในยุคนี้เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะ อันเกิดจากการผสมผสานระหว่างงานศิลปกรรมแบบล้านนาและงานศิลปกรรมสุโขทัย ซึ่งส่งอิทธิพลด้านงานพุทธศิลป์สู่งานช่างลำปางอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง พระประธานในพระวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง พระเจ้าทองทิพย์ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระประธานในวิหารวัดกู่คำ พระเจ้าทันใจ วัดพระเจ้าทันใจ และพระประธานวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น   

นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปปูนปั้น และพระพุทธรูปประเภทอื่นๆ ที่มีการกล่าวถึงยุคสมัยการสร้างมาตั้งแต่ยุคล้านนา อันได้แก่ พระประธานปูนปั้น ขนาดใหญ่ภายในวิหารพระพุทธ ซึ่งถือเป็นวิหารหลังแรกของวัดพระธาตุลำปางหลวงที่ยังคงปรากฏสภาพโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบ และเป็นวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา 

ภายหลังจากล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ายังปรากฏหลักฐานการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์โดยเฉพาะการสร้างพระพุทธรูปกระจัดกระจายอยู่ตามชุมชนรอบนอก ได้แก่ ชุมชนวัดพระธาตุลำปางหลวง ชุมชนวัดไหล่หินหลวง ชุมชนวัดพระธาตุเสด็จ หรือชุมชนหัวเมืองขนาดเล็กอื่นๆ ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางเมือง ในขณะที่ตัวเมืองนครลำปางนั้นประชากรส่วนใหญ่ได้ถูกกวาดต้อนไปพม่าในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 โดยทิ้งประชากรให้อยู่รักษาเมืองเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้วัดที่อยู่ภายในตัวเมืองนครลำปางส่วนใหญ่ขาดผู้ดูแลอุปถัมภ์และกลายสภาพเป็นวัดร้าง งานพระพุทธปฏิมาที่ปรากฏพบอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำปางปัจจุบัน ส่วนใหญ่จึงเป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่นับตั้งแต่ช่วงของการฟื้นฟูบ้านเมืองภายหลังจากการขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา

ภายหลังจากช่วงการฟื้นฟูบ้านเมือง ได้ปรากฏนามครูช่างประเภทงานพุทธปฏิมา ที่สำคัญ ได้แก่ ครูบาจินา แห่งวัดหลวงแสนเมืองมา ครูบาสังฆราชเจ้าเทวะแห่งวัดท่าผา ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี แห่งวัดปงสนุกเหนือ และครูบามหาเถรสำคัญอีกหลายรูป ที่มีบทบาทในการเป็นช่างและถ่ายทอดภูมิความรู้แก่เหล่าลูกศิษย์รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ประจักษ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละครูช่างนั้นจะมีลักษณะเฉพาะที่สะท้อนให้เห็นจริตฝีมือและทัศนะความงามของพุทธปฏิมาตามรูปแบบในอุดมคติ ซึ่งมักจะสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นบ่งบอกถึงตัวตนของผู้สร้างเสมอ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่างานพุทธปฏิมาของแต่ละครูช่างจะมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันถึงการสืบทอดสายครูช่างผู้รังสรรค์สร้างพระพุทธรูปและสามารถบ่งบอกถึงความเป็นสกุลช่างลำปาง คือขั้นตอนและกระบวนการรวมถึงพิธีกรรมที่มีการสืบทอดตามสายครูของเมืองนครลำปาง โดยยังพบหลักฐานตำราการสร้างพระพุทธรูปรวมถึงขั้นตอนและพิธีกรรมที่บันทึกไว้เป็นเอกสารโบราณตามวัดสำคัญต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง นอกจากนี้ยังคงปรากฏการให้ความสำคัญกับครูช่าง ซึ่งพบว่ายังมีการลำดับสายครูช่างที่เป็นพระมหาเถระในคำกล่าวโอกาสเวนตานหรือโองการไหว้ครูในพิธีกรรมต่างๆ ของเมืองลำปางในปัจจุบันอีกด้วย

จากห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปในพื้นที่จังหวัดลำปางนั้น พบว่า มีการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ช่วงยุคทองของล้านนาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ปรากฏพระพุทธรูปที่สร้างด้วยวัสดุต่างๆ เป็นจำนวนมากตามเจตนาและวัตถุประสงค์ของการสร้างพระพุทธรูปนั้น โดยในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดลำปางมักจะมีพระพุทธรูปสำคัญประจำท้องถิ่นเสมอ โดยแต่ละองค์นั้นมักจะผูกโยงเรื่องราวอภินิหารหรือตำนานที่มา เป็นการย้ำเตือนถึงความศักดิ์สิทธิ์และความพิเศษของพระพุทธรูปนั้นๆ  โดยสามารถแบ่งกลุ่มที่มาของพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดลำปางได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 

กลุ่มแรก  เป็นพระพุทธรูปสำคัญอันมีที่มา ตำนานหรือประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับนิทานปรัมปรา อภินิหาร ผู้วิเศษ หรือเหล่าเทวดา ดังเช่น ตำนานที่มาของพระแก้วมรกตดอนเต้า หรือพระเจ้าทองทิพย์องค์อินทร์ ที่ผูกโยงเรื่องราวถึงพระอินทร์แปลงกายมาเป็นช่างผู้สร้าง   

กลุ่มที่สอง  ได้แก่ กลุ่มพระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุพิเศษ เช่น สร้างจากแก้วมรกต สร้างจากทองคำหรือโลหะมีค่าอื่นๆ สร้างจากผงดอกไม้ หรือสร้างจากไม้แก่นจันทน์ เป็นต้น     

กลุ่มที่สาม ได้แก่ กลุ่มพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากบุคคลสำคัญของบ้านเมือง เช่น พระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุลำปางหลวง พระเจ้าทองทิพย์ วัดบ้านลู หลวงพ่อดำหรือพระพุทธนิโรคันตรายตุรทิศฯ และกลุ่มสุดท้าย 

กลุ่มที่สี่  ได้แก่ พระพุทธรูปสำคัญด้วยเหตุที่เป็นพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งในกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มพระพุทธรูปสำคัญที่พบเป็นจำนวนมากที่สุด


เวียงอาลัมพางค์ที่ตามหา

 







เรื่อง เวียงอาลัมพางค์ที่ตามหา ข้อมูลนิทรรศการ งานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่ 2 ปี 2565  ไฟล์เพื่อการดาวน์โหลด ด้านบน รวม 6 ไฟล์ภาพ 

เนื้อหาต้นฉบับ

กำเนิดเวียงอาลัมพางค์

   หลังจากที่พระสุพรหมฤาษีกำหนดชัยภูมิสร้างเมืองเขลางค์ ให้ท้าวอนันตยศเป็นกษัตริย์ครองพระนครแห่งใหม่นี้ทรงพระนามว่าเจ้าอินทรเกิงกร เมื่อปีพ.ศ.๑๒๒๓ แล้วนั้น เมืองเขลางค์นครถือว่าเป็นเมืองคู่แฝดกับนครหริภุญไชยซึ่งมีเจ้ามหันตยศแฝดผู้พี่เป็นผู้ปกครอง  

    เมืองเขลางค์นครที่ก่อตั้งจึงเป็น"เมืองอันสุขเกษม"ตามคำกล่าวของพระสุพรหมฤาษี ต่อจากนั้นเจ้าอินทรเกิงกรได้ทรงขอพระเถระเจ้าจากเมืองหริภุญไชยมาเผยแผ่พุพธศาสนาแก่ประชาราษฎร์ของพระองค์ และทรงสร้างวัดวาอารามขึ้นจำนวนมาก ต่อมาได้ทูลเชิญพระนางจามเทวีผู้เป็นพระมารดาให้เสด็จมาประทับ ณ เมืองเขลางค์นครเพื่อจะได้ปรนนิบัติทดแทนคุณพระมารดาในยามชราภาพ ดังหลักฐานในตำนานมูลศาสนา(ฉบับวัดเชียงมั่น)กล่าวว่า" เมื่อนั้นอินทวร (เจ้าอนันตยศ) รู้ข่าวว่าแม่ตนมาดั่งอั้น ก็จึงเอารี้พลเสนาตนมารับแม่เถิงกลางทาง ก็นำเอาแม่เมือสู่เมืองแห่งตนหั้นแล.....นางจามเทวีเมือฮอดแล้วก็หันราชสัมปัตติ(ราชสมบัติ)แห่งลูกตนบัวระมวรงาม(งามพร้อมบริบูรณ์) นางก็ยินดีนัก นางก็หาเครื่องอภิเษก......นางก็หื้อชุมนุมเสนาอำมาตย์ราชมนตรี.....มาทำอภิเษกลูกท่านเจ้าอินทวรหื้อเป็นพระยา(กษัตริย์) แล้วหื้อเล่นมหรสพ ๗ วัน ๗ คืน.....นางก็ขึ้นไปไหว้เจ้ารสี(สุพรหมฤาษี) ในดอยเขางาม.....เจียรจากับด้วยเจ้ารสีแล้วก็ลงมาสู่เมืองเขลางค์หั้นแล....."

    เพื่อให้มีเวียงที่ประทับแก่พระมารดาจึงทรงมอบให้พระสุพรหมฤาษีสร้างตำหนักแห่งหนึ่งทางทิศตะวันตกของเขลางค์นครให้สามารเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวกเรียกชื่อว่า"เวียงอาลัมพางค์ " ในตำนานมูลศาสนา(ฉบับกรมศิบปากร) กล่าวว่า ".....พระยาอินทวรสั่งให้อำมาตย์ตกแต่งพระตำหนักที่ประทับสำหรับพระราชมารดาในที่แห่งหนึ่ง สถานที่นั้นจึงเรียกชื่อว่า ลำพาง มาตราบเท่าถึงกาลบัดนี้" " ตำนานมูลศาสนา(ฉบับวัดเชียงมั่น) กล่าวว่า ".....ถัดนั้นอินทวรก็หื้อแต่งสนามที่ ๑ หื้อนางตนเป็นแม่อยู่กินเล่านั้นแห่งหั้น ก็เรียกว่า เมืองลำปางมาต่อเท่าบัดนี้แล....." ตำนานจามเทวีวงศ์กล่าวว่าพระนครแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ทางปัจจิมคือทิศตะวันตกของเขลางค์นคร ( ส่วนพงศาวดารโยนกกล่าวว่าอาลัมพางค์นครอยู่ทางทิศหรดี คือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเขลางค์นคร ) พระนางจามเทวีทรงประทับอยู่ในเขลางค์นคร ระหว่าง พ.ศ. ๑๒๕๑ - ๑๒๕๗ เป็นเวลา ๖ ปี พงศาวดารโยนกกล่าวว่า " เมืองนครเขลางค์และอาลัมพางค์ก็เป็นประดุจเมืองเดียวกัน ชนทั้งหลายจึงเรียกว่านครเขลางค์ลำปาง....."   ศักดิ์ รัตนชัยนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแห่งนครลำปางได้แสดงความเห็นว่า "อาลัมพางค์คือชื่อเมืองแฝดคู่เขลางค์นครปรากฏในตำนานจามเทวีวงค์และพงศาวดารโยนก.....อาลัมพางค์เป็นชื่อเมืองที่ใช้ในระยะสั้นๆ(แต่)มีอายุยาวนานกว่าพันปี....."

    และในคราวเสด็จมาในครั้งนั้นพระนางจามเทวีได้อัญเชิญพระพุทธสิกขีปฏิมาที่พระเจ้าอนุรุทแห่งเมืองพุกามให้ราชฑูตอันเชิญมาถวายยังเมืองเขลางค์นคร พระนางจามเทวีจึงถวายพระพุทธสิกขีปฏิมา

แก่เจ้าอินทรเกิงกรให้เป็นพระประจำเมืองนำไปประดิษฐานที่วัดเสตกูฎาราม(วัดกู่ขาว)ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณอาณาเขตของเวียงอาลัมพางค์เพื่อความสะดวกในการสักการะบูชา และพระเจ้าอินทรเกิงกรก็ได้เสด็จมาหาพระมารดาสม่ำเสมอมิได้ขาด

    จากบันทึกทางประวัติศาสตร์หลังพ้นจากยุคหริภุญไชยสู่ยุคสมัยล้านนาเมื่อปี พ.ศ ๒๐๕๘  เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี( คือพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือ พระเชษฐาธิราช โอรสพระบรมไตรโลกนารถ )ยกทัพกรุงศรีอยุธยา มาตีเมืองละกอนและได้อัญเชิญพระพุทธสิกขีปฏิมาไปจากวัดกู่ขาว (ตรงกับวันอังคาร เดือนอ้ายขึ้น ๑๕ ค่ำปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๘๗๗ ) นับจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจนถึงยุคสมัยปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า ๕๐๐ ปีมาแล้วยังไม่ปรากฏหลักฐานใดๆอีกเลยว่าพระสิกขีปฏิมาอยู่ที่ใดและมีผู้ใดครอบครอง

     ○ ตามหาเวียงอาลัมพางค์ 

      นับจากอดีตเมืองเขลางค์นครยุคหริภุญไชยสู่เมืองละกอนในยุคล้านนาจวบจนถึงนครลำปางในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเวลานานกว่า ๑๓๐๐ ปียังคงเป็นปริศนาอยู่ว่าเวียงอาลัมพางค์ที่พูดถึงนั้นตั้งอยู่ ณ ที่ใด

    หลักฐานสำคัญที่ยืนยันความมีอยู่จริงของเวียงอาลัมพางค์มีหลายประการได้แก่

    ๑. จากจารึกและตำนานหลายฉบับดังที่เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นสอดคล้องตรงกันคือเวียงอาลัมพางค์ตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมืองเขลางค์นครทางทิศตะวันตกหรือตะวันตกเฉียงใต้ไม่ห่างจากเมืองเขลางค์นครมากนัก ข้อมูลจากอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัยในหนังสือประวัตินครลำปางกล่าวไว้ดังนี้ " จากการสำรวจซากเมืองโบราณเขลางค์นครโดยการสำรวจทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศจะพบเนินดินถนนโบราณทอดจาดศูนย์กลางวัดพระแก้วดอนเต้าผ่านทางประตูตาลหลังวัดหัวข่วงอันเป็นตัวเมืองโบราณสู่บริเวณวัดร้างปันเจิง( หรือวัดพันเชิง : ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปางและสำนักงานมัธยมศึกษาเขต ๓๕ ) สู่วัดพระเจ้าทันใจ ซึ่งมีบริเวณติดกับวัดกู่คำ วัดร้างกู่ขาว กู่แดง ซากวัฒนธรรมเก่าแก่ที่เหลืออยู่เป็นร่องรอยบริเวณรอบๆมีบ่อน้ำหลายแห่ง เศษกระเบื้องดินเผาและซากเตาไหบริเวณที่เรียกว่า บวกหม้อแกงตอง ( สระหม้อแกงทองเหลือง ) รวมทั้งซากวัดร้างที่ไม่ทราบประวัติอีกหลายแห่ง ร่องรอยชุมชนที่เคยอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยหริภุญไชย รวมทั้งเศษพระพุทธรูปปูนปั้นประดับพระเจดีย์วัดปันเจิงที่เก่าถึงสมัยหริภุญไชย พระเครื่องแบบหริภุญไชย ฯลฯ "

    ๒. วัดกู่ขาว  อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิกขีปฏิมา  มีหลักฐานจารึกและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมีอยู่จริงกล่าวคือ  

เรื่องแรก  อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัยกล่าวถึงในเหตุการณ์ในยุคล้านนาว่า" ในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังรายเมืองละกอนได้นิมนต์เจ้าอาวาสวัดกู่ขาวพร้อมกับพระศิลาละโว้ที่พระนางจามเทวีนำไปประดิษฐานที่วัดหนองงูนำไปประดิษฐานที่วิหารละโว้ในวัดพระธาตุลำปางหลวง

เรื่องที่สอง  วัดกู่ขาวยังปรากฏชื่อในตำนานพระธาตุจอมพิงไชย กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนที่เจ้าหาญศรีทัตเจ้าเมืองละกอนจะสร้างอุโบสถ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๑ ว่า " .....พายสุร หลานอ้ายจอมแพล่  กับผ้าขาวหม่น ผ้าขาวอ้ายน้อย ผ้าขาวเหมืองใส เขาพร้อมกันเมืออาราธนาพระปารมีเป็นลูกชายหัวฝายละโว้มาอยู่วัดกู่ขาวนะคอร (นคร) มาอยู่รักษาพระพุทธเจ้ายัง(วัด)จอมพิงหั้นแล"

เรื่องที่สาม เหตุการณ์ในยุคปัจจุบัน  ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดร้างกู่ขาวเป็นโบราณสถานในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ 

  จากผลของการชนะคดีในศาลจังหวัดลำปางต่อเอกชนที่พยายามจะบุกรุกที่ดินจุดที่ตั้งวัดร้างกู่ขาว ด้วยความพยายามสู้คดีเพื่อทวงคืนสมบัติชาติของท่าน อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย (อันเป็นคุณเอนกอนันต์ต่อชาวลำปางที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง)      

     ๓. พระพุทธสิกขีปฏิมาในเวียงอาลัมพางค์นคร ที่มีจารึกในประวัติศาสตร์ระบุว่าได้ถูกอัญเชิญจากวัดกู่ขาวในคราวที่พระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีเมืองละกอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๘

     แม้มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนกับหลักฐานประกอบ

แต่ยังไม่อาจยืนยันในชั้นต้นว่าจุดที่ตั้งของเวียงอาลัมพางค์นั้นตั้งอยู่ ณ ที่ใดนั้นเพราะยังมีข้อโต้แย้งบางส่วนที่ต้องหาเหตุผลอธิบายอยู่อีก ๒ ประเด็น คือ  

        ๑) ว่าด้วยทิศที่ตั้งของเวียงอาลัมพางค์ ระหว่าง ทิศปัจจิม(ตะวันตก)กับบทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้)  ซึ่งมีผลต่อการกำหนดพิกัดที่ตั้งยังมีความเห็นที่แตกต่างกันของผู้รู้

         ๒) ร่องรอยของคูน้ำคันดินที่เป็นข้อยืนยันความเป็นเมือง (เวียง) จากความเห็นของ ศาสตรจารย์ ดร.สุรพล ดำริห์กุล แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผ่านมายังหาร่องรอยและคำยืนยันไม่ได้

     ○ คลี่คลายประเด็นขัดแย้งและเหตุผลยืนยันจุดที่ตั้งของเวียงอาลัมพางค์

         ด้วยเหตุผลประเด็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับทิศทางดังกล่าว กรณีของเวียงอาลัมพางค์ในทิศหรดีหรือตะวันตกเฉียงใต้ จากพงศาวดารโยนกนั้นจึงมีนักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงระยะทางทั้ง ๒ สถานที่แล้วห่างกันถึง ๑๖ กิโลเมตรจึงขัดแย้งกับข้อมูลที่ระบุว่าสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ทุกวันด้วยระยะทางไม่ห่างกันนักและชี้ชัดว่าเมืองทั้ง ๒ อยู่ใกล้กันดุจจะเป็นเมืองเดียวกัน

     แต่หากเป็นทิศตะวันตกของเมืองเขลางค์และทั้ง ๒ พระองค์ไปมาหาสู่กันดูแลกันได้ทุกวัน ๒ เมืองนี้คงมีระยะทางราว ๑ กิโลเมตร ในย่านโบราณสถานกลุ่มวัดกู่คำ จึงสอดคล้องความจริงมากที่สุดทั้งทิศทางและบริเวณที่ตั้ง

      เมื่อเชื่อมั่นว่าทิศทางและที่ตั้งชัดเจนแล้วว่าเป็นทิศตะวันตกในย่านโบราณสถานวัดกู่คำ กู่ขาว กู่แดง วัดปันเจิงและวัดพระเจ้าทันใจ ประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับคูน้ำ คันดินอันเป็นข้อบ่งบอกถึงความเป็นเวียงนั้น จากสภาพแวดล้อมที่เห็นและข้อมูลจากการสัมภาษณ์พระครูพุทธิธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าทันใจซึ่งอยู่ในพื้นที่ยาวนานแล้วพบว่า บริเวณของวัดพระเจ้าทันใจนั้นเดิมมีคูน้ำล้อมรอบทั้งหมด ปัจจุบันเหลือเพียงสระน้ำแนวยาวด้านหน้าพระอุโบสถและหักมุมไปทางด้านข้างทิศเหนือระยะหนึ่งบริเวณสระ นอกจากนั้นบางส่วนตื้นเขินเป็นมูลดินไม่มีสภาพเป็นคูน้ำแล้ว ส่วนด้านใต้และตะวันออกบางส่วนถูกถมและตื้นเขินไป จากสภาพดังกล่าวผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องนี้ในฐานะผู้รวบรวมเนื้อหาจึงเชื่อมั่นว่า "วัดพระเจ้าทันใจ" นี้เองคือที่ตั้งของ "เวียงอาลัมพางค์"  อันมีเหตุผลประกอบ ดังนี้

๑) ร่องรอยถนนโบราณตามที่กล่าวไว้เริ่มต้นจากเวียงเขลางค์นครทอดยาวไปทางทิศตะวันตกจากประตูตาลและมาสิ้นสุดที่บริเวณวัดพระเจ้าทันใจ

๒) บริเวณที่ประทับของพระนางจามเทวี เป็นบริเวณพื้นที่ไม่ใหญ่โตกว้างขวางมากจนเกินไปมีลักษณะเป็น"เวียงเล็กๆ" มีคูน้ำล้อมรอบทุกด้าน อาจจะมีคันดินหรือกำแพงเวียงขนาดไม่ใหญ่นัก ยังมีหลักฐานที่คนรุ่นก่อนจดจำได้ว่าเคยมี "ประตูเวียงอาลัมพางค์"  ที่เรียกว่า"ประตูเก๊าขาม" (ประตูต้นมะขาม) ที่จะเข้าไปสู่ตัวพระตำหนักที่ประทับหรือตัวเวียงอาลัมพางค์ได้

๓) ระยะห่างจากเวียงเขลางค์นครไม่ห่างกันมากนักจนเรียกได้ว่าเป็นเมืองเดียวกันและทั้ง ๒ พระองค์เดินทางไปมาหาสู่กันได้ทุกวันมิได้ขาด

๔) ตำหนักที่ประทับ "เวียงอาลัมพางค์" เจตนาสร้างใกล้กับ เสตกูฎาราม (วัดกู่ขาว)ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิกขีปฏิมาอันจะทำให้พระนางจามเทวีเสด็จมาบำเพ็ญศีลภาวนาได้สะดวก แม้ในช่วง ๓ ปีหลังพระนางจะไปประทับยังเวียงเขลางค์นครสลับกับเจ้าอินทรเกิงกร พระนางก็สามารถเสด็จมายังเวียงอาลัมพางค์และเสตกูฎารามได้โดยสะดวกเพราะมีระยะทางไม่ไกลกันมากเกินไปนัก

๕) พระพุทธสิกขีปฏิมาประดิษฐานที่เสตกูฎาราม อาณาเขตเวียงเขลางค์นครตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๒๕๑จนถึงช่วงกองทัพกรุงศรีอยุธยามาตีเมืองละกอนสมัยอาณาจักรล้านนาและอัญเชิญไปในปี พ.ศ. ๒๐๕๘ เป็นเวลานานถึง ๘๐๗ ปี ตำหนักเวียงอาลัมพางค์คงได้กลายสภาพเป็นวัดตั้งแต่สมัยเวียงเขลางค์นครแล้ว

    ○ บทสรุป 

         แม้โดยเหตุผลแวดล้อม ทั้งจากจารึกฉบับต่างๆ โบราณวัตถุที่พบและข้อมูลจากผู้รู้จึงมีน้ำหนักเชื่อถือได้ว่า " เวียงอาลัมพางค์ " มีที่ตั้งอยู่อาณาบริเวณของวัดพระเจ้าทันใจทั้งหมด มีพื้นที่ติดกับเสตกูฎาราม(วัดกู่ขาว) ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว ยังรอเวลายืนยันครบถ้วนสมบูณ์จากการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากรในย่านโบราณสถานกลุ่มวัดกู่คำนี้

        จึงเป็นมิติใหม่ทางประวัติศาตร์ นำร่องรอยแห่งอดีตมาเชื่อมโยงกับปัจจุบันให้เกิดทั้งความภูมิใจถึงรากเหง้าที่ดีงามของบรรพชนและปรับเปลี่ยนมาสู่การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะอนุชนรุ่นต่อๆไป จนนำไปสู่อาณาจักรแห่งการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นการสร้างภูมิทัศน์ใหม่ของชุมชนจากความงอกงามของการระเบิดจากภายในก่อเกิดพลังสืบทอดไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง


ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย "ลำปางรักษ์เมืองเก่า"

 
Copyright © 2018 ลำปางรักษ์เมืองเก่า. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand